วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ธรรมะของหลวงปู่ทวด




หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี


ท่านเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในนาม " หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด "


คาถาบูชาท่าน คือ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา


ชาติกาล 3 มีนาคม พ.ศ. 2125
ชาติภูมิ บ้านเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
บรรพชา เมื่ออายุได้ 15 ปี
อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี
มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ.2225
สิริรวมอายุได้ 99 ปี


คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด


ธรรมประจำใจ


พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์


ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ

สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก


ชีวิตทุกข์


การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย


บรรเทาทุกข์


การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ
ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบายไม่สิ้นสุด


แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้นยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ


อยู่ให้สบาย


ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ

เหนือรัก เหนือชัง


ธรรมารมณ์


การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้ว
ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์


กรรม


ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง
มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ


โลกิยะ หรือ โลกุตระ


คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?
ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง


ศิษย์แท้


พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


รู้ซึ้ง


ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา


ใจสำคัญ


การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย


หยุดพิจารณา


คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้

บริจาค


ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง


เตือนมนุษย์


มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีง านทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า

พิจารณาตัวเอง


คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร
ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่า ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของหลวงปู่ทวด


ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

พร 4 ข้อของท่าน ว.วชิรเมธี

พร 4 ข้อของท่าน ว.วชิรเมธี


1.อย่าเป็นนักจับผิด

คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง

" กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก "

คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส " จิตประภัสสร " ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี

" แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข "


2.อย่ามัวแต่คิดริษยา

" แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน "

คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า " เจ้ากรรมนายเวร " ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์ ฉะนั้น เราต้อง ถอดถอน

ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น " ไฟสุมขอน " ( ไฟเย็น) เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน

เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี

" แผ่เมตตา " หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา แล้วปล่อยให้ลอยไป


3.อย่าเสียเวลากับความหลัง

90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ " ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น "

มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ " อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน "

" อยู่กับปัจจุบันให้เป็น " ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย คือมี " สติ " กำกับตลอดเวลา


4.อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ

" ตัณหา " ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่ เกินพอดี เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วย น้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วย เชื้อ

ธรรมชาติของตัณหา คือ " ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม "

ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม เช่น คุณค่า

ที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้ ใส่เพื่อความโก้หรู

คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่ คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์

เราต้องถามตัวเองว่า " เกิดมาทำไม " " คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน" ตามหา " แก่น " ของชีวิตให้เจอ คำว่า "พอดี" คือถ้า "พอ" แล้วจะ"ดี" รู้จัก "พอ" จะมีชีวิตอย่างมีความสุข


ท่านที่ได้รับโปรดส่งต่อไปให้แก่คนที่ท่านรักแลปรารถนาดี เป็นบุญเป็นกุศลยิ่งนัก

สัพพะทานัง ธัมมะธานัง ชินาติ

' การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง '

จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว จงประสพแต่ความสุข ความเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

และปฏิภาณธนสารสมบัติทุกประการ

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๐๘๕

นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๐๘๕ พฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓



จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๘๕

ตอนอยู่ประถมปลาย

ผมเจอประสบการณ์หนึ่งที่จำชัดมาจนถึงวันนี้

คือมีกิจกรรมเต้นประกอบจังหวะระหว่างนักเรียนหลายชั้น

ใช้นักเรียนทั้งหมดจำนวนเกือบร้อยจับคู่กัน

มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งซึ่งผมรู้สึกไม่ถูกชะตาอย่างแรง

และเพิ่งจะมีปากมีเสียงกันประสาเด็ก

ได้เข้ามาร่วมขบวนด้วย

ก่อนถึงเวลาจับคู่

ผมคิดในใจว่าถ้าโดนแจ็คพอตกับคนนี้

ผมยอมตายดีกว่า

มันเป็นความรังเกียจเดียดฉันท์ออกมาจากก้นบึ้ง

หน้าไม่อยากมอง เสียงไม่อยากฟัง

เรียกว่าแค่ต้องเห็นหน้าตอนคัดเลือก

ก็อยากถอนตัวจากกิจกรรมนั้นแล้วด้วยซ้ำ

พอได้เวลาจับคู่ ครูให้นักเรียนกระจายเป็นหน้ากระดาน

แบ่งเป็นสองข้าง ข้างละประมาณ ๓๐-๔๐ คน

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อครับ

เพื่อนนักเรียนร่วมร้อย ตัวแทนจากไม่รู้กี่ชั้น

ผมดันโดนจัดให้มายืนตรงข้ามกับคู่กรณีพอดิบพอดี!

มันทำให้ผมตกตะลึงอึ้งงงที่สุดในชีวิต

ไม่อยากเชื่อสายตา ไม่อยากเชื่อแก้วหู

คล้ายกับคุณพูดเล่นๆว่าเดี๋ยวหลับหูหลับตาปาลูกดอก

อาจเข้าเป้ากลางขึ้นมาก็ได้

แล้วพอปาส่งเดชไปก็ดันปักเด่ที่กลางเป้าเข้าให้จริงๆ!

ชั่วขณะของประสบการณ์กระทบตัวจังๆนั้น

ผมรู้สึกได้ในจากสัมผัสลึกๆว่านั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

มันมีกระแสดึงดูดอันดำมืดบางอย่างเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

และดูเหมือนผมจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

เพียงแต่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก

ว่าไปมีส่วนสร้างความซวยให้ตัวเองได้อย่างไร

อีกหลายปีต่อมา

เมื่อสนใจศึกษาสิ่งที่เกินขอบเขตของรูปธรรม

ผมก็ได้คำตอบว่าประสบการณ์อึ้งกิมกี่ครั้งนั้น

ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย

พลังความเกลียดที่รุนแรง ก่อให้เกิดอำนาจดึงดูด

อันมาจากกระแสจิตที่เข้มข้น

แบบเดียวกับหลุมดำที่ดึงดูดสิ่งดำมืดเข้าหาตัว

เมื่อจงเกลียดจงชังใครหรือสิ่งใดอย่างเหนียวแน่นแล้ว

ตอกย้ำพร่ำคิดไม่เลิกแล้ว

ก็กลายเป็นมโนกรรมที่ทำเป็นอาจิณ

เอาแต่ตรึกนึกถึงเขาในทางไม่ดี

ส่งผลให้จิตผูกติด ยึดมั่นกับคนนั้นหรือสิ่งนั้นไม่ปล่อย

แม้ความรู้สึกจะอยากผละออก อยากหนีหาย

แต่อาการทางใจกลับดึงดูด เกาะเกี่ยว และติดมั่น

ยากจะถ่ายถอน

ยิ่งโตขึ้นเห็นปรากฏการณ์ทางจิตในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ผมก็ยิ่งเข้าใจเรื่องทำนองนี้แจ่มกระจ่าง ขอยกตัวอย่าง

บางคนเป็นศัตรูคู่แค้นกับบางศาสนามาแต่ปางไหนไม่ทราบ

วันๆจ้องหาเรื่องเขา ไปดูถูกด้วยอาการยกตนข่มท่าน

หรือด้วยเจตนาย่ำยีจิตใจให้เจ็บช้ำ

หาว่าใครต่อใครปัญญาอ่อน หลอกง่าย

เชื่อเข้าไปได้อย่างไร

แล้วก็มีอัตตามานะว่าข้าเป็นพุทธ ข้าฉลาดกว่า

เกิดมาจึงมีปัญญาติดตัว ไม่ต้องกลัวใครต้มตุ๋นอย่างแก

นานเดือนนานปีเข้า

เมื่อถึงเวลาชะตาสั่งให้เป็นทุกข์

ก็ทุกข์เท่าที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะทุกข์ได้

และอันเนื่องจากเป็นพุทธในแบบที่ไม่ได้ฝึกจิตอย่างพุทธ

เกิดปัญหาทางใจขึ้นมาเลยเคว้งคว้างเหมือนเด็กใกล้จมน้ำ

ที่เคยเก่งกล้าสามารถหัวเราะเยาะคนอื่นได้ทั่วแผ่นดิน

ก็กลายเป็นร้องไห้ขอความสงสารเขาได้ทั้งโลก

แรงต้านพลิกขั้วกลับเป็นแรงดึงดูดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เมื่ออยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด

ก็นึกถึงหลักที่พึ่งซึ่งตนเคยปรามาสไว้แรงที่สุด

แล้วก็รู้สึกอบอุ่นอย่างที่สุดด้วยเมื่อเปิดใจรับ

พอพลิกจากความเชื่อในศาสนาของเหตุผล

ไปสู่ความเชื่อในศาสนาแห่งศรัทธาเรียบร้อย

ก็ได้เวลาเจอวิบากจากกรรมที่ทำไว้หนักแน่นในชาติปัจจุบัน

ต้องถูกกระทบกระเทียบ ถูกด่าว่าต่างๆนานาสารพัด

โดนแบบเดียวกับที่เคยทำคนอื่นไว้นั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเป้าใหญ่ที่ตีมัน

เนื่องจากรู้ๆกันในหมู่เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ว่า

เคยตราหน้าคนอื่นไว้หนักหนาขนาดไหน

นั่นเป็นเรื่องที่ผมเห็นตัวอย่างมาจริงๆ

ยังมีกรณีตัวอย่างอื่นที่ใกล้ตัวกว่านั้น

คนเราพอทะนงในความเป็นฝ่ายถูก

หรือความเป็นผู้อยู่ในศีลในธรรม

ก็มักเผลอรู้สึกว่าคนรอบข้างต้อยต่ำ

บางคนรู้สึกอย่างนี้เพราะจิตสูงจริง

สว่างขาวออกมาจากข้างในจริงๆ

เลยสัมผัสเป็นเปรียบเทียบได้ว่า

คนรอบตัวส่วนใหญ่มอมแมมกว่า

ทำนองเดียวกับคนใส่เสื้อผ้าที่ซักสะอาดหอมรื่น

เดินไปไหนมาไหนท่ามกลางคนใส่เสื้อคลุกฝุ่นเหม็นเขียว

ย่อมอดชักสีหน้าเบ้ปากด้วยความรู้สึกเป็นคนละชั้นไม่ได้

แต่บางคนแค่รู้สึกเพียงเพราะเชื่อมั่นว่าตนดีเสมอ

เป็นฝ่ายถูกเสมอ เหนือกว่าคนอื่นเสมอ

เรียกว่ายังไม่ทันมีภูมิคุ้มกันความชั่วร้าย

ก็ชะล่าใจ และเห็นตนเองเหมาะจะเป็นผู้พิพากษา

ด่าว่าคนอื่นได้โดยไม่ปรานีปราศรัย

โดยเฉพาะนินทาลับหลัง

หรือบางทีก็ด่ากระทบกันต่อหน้าต่อตา

ขอให้สังเกตดีๆ ตอนคุณด่าใครเอามัน

แม้มีทั้งความสนุกปากและความโล่งอกที่ได้ปลดปล่อย

จิตของคุณเหมือนประกาศศักดาไปแล้วว่า

ฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า ฉันไม่เป็นอย่างนั้น

ความผิดทำนองเดียวกันที่ตนมี

บัดนี้ได้ถูกฝาก หรือถูกยัดเยียดให้คนอื่นไปหมดแล้ว

แต่หลังจากสนุกปากและโล่งอก

คุณอาจเกิดความอึดอัดแปลกๆ

นั่นเพราะยิ่งด่าคนอื่นไว้แรงเท่าไร

ยิ่งเท่ากับเป็นแรงกดดันว่าเราจะเป็นอย่างเขาไม่ได้

เป็นต้นว่า เห็นเพื่อนพลาดพลั้ง ไปหลงรักคนมีเจ้าของ

แทนที่จะเห็นอกเห็นใจและค่อยๆปลอบให้เห็นโทษ

กลับด่ายับ สวดแหลกลาญ พ่นโขมงโฉงเฉง

ตัดสินง่ายๆว่าเขาเลว เขาโฉด เขาใฝ่ต่ำ

ฉันไม่เห็นจะเป็นอย่างแก ฉันไม่มีทางเลวแบบแกเป็นอันขาด

คำด่าเหล่านั้นย่อมย้อนกลับมาเป็นมีดจ่อค้ำคอ

เมื่อไรพลาดสะดุดล้มเข้าบ้าง

มันจะเชือดคอหอยคุณทันที!

ใจเดิมอยู่เฉยๆเป็นอิสระของมัน

แต่เมื่อใส่ใจให้ยึดกับอะไร ใจก็ผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น

แล้วค่อยๆเหนี่ยวนำสิ่งนั้นมาเข้าตัวทีละน้อย

หรือไม่ก็กระชากพรวดเดียวมากอดเต็มอ้อมเลยทีเดียว

ด่าเขาเบาก็โดนลองเบาๆ พอต้านไหว

ด่าเขาแรงก็โดนลองแรงๆ ยากจะต้านสำเร็จ

สังคมอินเตอร์เน็ตปัจจุบันทำให้บางคนเปรยเลยทีเดียวว่า

กำลังเครียดๆ ขอมาร่วมแจมกับคอเดียวกัน

รุมด่าหมอนี่ให้เบาตัวสบายใจหน่อยเถอะ

อย่าท้าทายความชั่ว แต่ขณะเดียวกันก็อย่าทะนงในความดี

อย่าประกาศว่าฉันดีแน่แล้ว ไม่ไปเป็นพวกนั้นอย่างเด็ดขาด

การรุมด่าคนอื่นคือการร่วมกันสร้างแรงกดดันให้ตนเอง

ค่อยๆบีบให้ตัวเองไหลลงไปสู่ความเป็นเช่นนั้นโดยไม่ทันรู้สึก

ส่วนการช่วยกันปลอบประโลมหรือชี้ทางสว่างให้คนล้ม

คือการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตนพลาด

หรือเมื่อพลาดแล้วก็มีแรงหยัดลุกขึ้นยืนใหม่ได้ไม่ยากครับ

ดังตฤณ

มกราคม ๕๓