วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

ธรรมะของหลวงปู่ทวด




หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี


ท่านเป็นพระมหาเถระที่รู้จักกันทั่วประเทศ ในนาม " หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด "


คาถาบูชาท่าน คือ นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา


ชาติกาล 3 มีนาคม พ.ศ. 2125
ชาติภูมิ บ้านเลียบ ต.ดีหลวง อ.สทิงพระ จ.สงขลา
บรรพชา เมื่ออายุได้ 15 ปี
อุปสมบท เมื่ออายุ 20 ปี
มรณภาพ 6 มีนาคม พ.ศ.2225
สิริรวมอายุได้ 99 ปี


คติธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ทวด


ธรรมประจำใจ


พูดมาก เสียมาก พูดน้อย เสียน้อย ไม่พูด ไม่เสีย นิ่งเสีย โพธิสัตว์


ละได้ย่อมสงบ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ล้วนแต่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ทุกอย่างในโลกนี้ เคลื่อนไปสู่การสลายตัวทั้งสิ้น ไม่ยึด ไม่ทุกข์ ไม่สุข ละได้ย่อมสงบ

สันดาน
ภูเขาถูกมนุษย์ทำลายลงมาได้
แต่สันดานของคนเราที่นอนนิ่งอยู่ในก้นบึ้ง
ซึ่งไม่เหมือนกันย่อมขัดเกลาให้ดีเหมือนกันได้ยาก


ชีวิตทุกข์


การเกิดมาเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง จะว่าประเสริฐก็ประเสริฐ จะว่าไม่ประเสริฐก็ไม่ประเสริฐ
จะเห็นได้ว่า ตื่นเช้าก็มีความทุกข์เข้าครอบงำ
จะต้องล้างหน้า ล้างปาก ล้างฟัน ล้างมือ
เสร็จแล้วจะต้องกินต้องถ่าย นี่คือความทุกข์แห่งกายเนื้อ
เมื่อเราจะออกจากบ้าน
ก็จะประสบความทุกข์ในหมู่คณะ ในการงาน ในสัมมาอาชีวะ การเลี้ยงตนชอบ
นี่คือ ความทุกข์ในการแสวงหาปัจจัย


บรรเทาทุกข์


การที่เราจะไม่ต้องทุกข์มากนั้น
เราจะต้องรู้ว่า เรานี้จะต้องไม่เอาชีวิตไปฝากสังคม เราต้องเป็นตัวของเราเอง
และเราจะต้องวินิจฉัยในเหตุการณ์ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับตัวเราว่า สิ่งใดเราควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ
ยากกว่าการเกิด
ในการที่เราเกิดมา ชีวิตแห่งการเกิดนั้นง่าย แต่ชีวิตแห่งการอยู่นั้นสิยาก
เราจะทำอย่างไรให้อยู่ได้อย่างสุขสบายไม่สิ้นสุด


แม่น้ำทะเล และมหาสมุทร ไม่มีที่สิ้นสุดของน้ำ ฉันใด
กิเลสตัณหาของมนุษย์ก็ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้นยึดจึงเดือดร้อน
ทุกวันนี้ เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็เพราะมนุษย์ไปยึดโนน่ ยึดนี่
ยึดพวกยึดพ้อง ยึดหมู่ยึดคณะ ยึดประเทศเป็นสรณะ โดยไม่คำนึงถึงธรรมสากล
จักรวาลโลกมนุษยนี้ ทุกคนมีกรรมจึงเกิดมาเป็นสัตว์โลก
สัตว์โลกทุนคนต้องใช้กรรมตามวาระ ตามกรรม
ถ้าทุกคนยึดถือเป็นอารมณ์ ก็จะเกิดการเข่นฆ่ากัน เกิดการฆ่าฟันกัน
เพราะอารมณ์แห่งการยึดถืออายตนะ ฉะนั้น ต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า
สิ่งใดทำแล้ว สัตว์โลกมีความสุข สิ่งนั้นควรทำ นี่คือ หลักความจริงของธรรมะ


อยู่ให้สบาย


ในภาวะแห่งการที่จะอยู่อย่างสบายนั้น
เราต้องอยู่กันอย่างไม่ยึด อยู่กันอย่างไม่ยินดี อยู่กันอย่างไม่ยินร้าย
อยู่กันอย่างพยายามให้จิตวิญญาณของนามธรรมนั้นเหนืออารมณ์
เหนือคำสรรเสริญ เหนือนินทา เหนือความผิดหวัง เหนือความสำเร็จ

เหนือรัก เหนือชัง


ธรรมารมณ์


การอยู่อย่างมีธรรมารมณ์ คือ การอยู่เหนือความรู้สึกทั้งปวง
อยู่อย่างรู้หน้าที่การเป็นคน และรู้หน้าที่ในการงาน คือ รู้ว่าสิ่งที่เราทำนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ
ไม่ใช่ทำเพื่อหวังผลตอบแทน เพราะถ้าเราทำงานเพื่อหวังผลตอบแทนต่างๆ แล้ว
ถ้าสิ่งต่างๆไม่สัมฤทธิ์ผลตามความหวังนั้น เราย่อมเกิดความโทมนัส เสียใจน้อยใจ เป็นทุกข์


กรรม


ถ้าเรามีชีวิตอยู่อย่างที่ว่า
เกิดเพราะกรรม อยู่เพื่อกรรม ทำเพราะกรรม ตายเพราะกรรมแล้ว
ชีวิตการเป็นมนุษย์ย่อมมีความภิรมย์ มีความรื่นเริง
มารยาทของผู้เป็นใหญ่
ผู้ใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่เกิดก่อน ผู้ดีไม่ใช่อยู่ที่เรียนสูง
มารยาทจรรยาของการเป็นผู้ใหญ่ ก็คือต้องสุขุมรอบคอบ และไม่ยึดติดเสียงเป็นหลัก คือ ต้องไม่หวั่นไหวกับคำนินทาและสรรเสริญ


โลกิยะ หรือ โลกุตระ


คนที่เดินทางโลกุตระ ย่อมไปดีทางโลกิยะไม่ได้
คนที่เดินทางโลกิยะ ย่อมสำเร็จทางโลกุตระได้ยาก เพราะอะไร ?
ถ้าคนหนึ่งสำเร็จได้ทั้งโลกิยะ และโลกุตระง่ายแล้ว
ทำไม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธโคดม ต้องสละราชบัลลังก์แห่งจักรพรรดิไปเป็นธรรมราชาเล่า ?
ถ้าเป็นไปได้ พระองค์เป็นมหาจักรพรรดิพร้อมทั้งธรรมราชา ไม่ดีหรือ?
แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกของโลกิยะและโลกุตระเดินคู่ขนานกัน
เราต้องตัดสินใจ ต้องมีความเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญในการที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง


ศิษย์แท้


พิจารณากายในกาย พิจารณาธรรมในธรรม พิจารณาวิญญาณ ในวิญญาณ
นั่นแหละ คือ สานุศิษย์อันแท้จริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


รู้ซึ้ง


ทุกอย่างจะต้องมีเหตุ เมื่อมีเหตุจึงจะมีผล ผลนั้นเกิดจากเหตุ
เราได้วินิจฉัยข้อนี้แล้ว เราจึงรู้ซึ้งถึงพุทธศาสนา


ใจสำคัญ


การทำบุญนั้น จะต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์
จะต้องทำด้วยความศรัทธา
ผลสะท้อนมันจะเกิดขึ้นเกินความคาดหมาย


หยุดพิจารณา


คนเรานี้ ถ้าไม่มีอะไรทำอยู่ในที่วิเวกคนเดียว จิตมันจะฟุ้งซ่าน
และถ้าภาวะนั้น ตนไม่ปล่อยให้จิตฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ คือ หยุดพิจารณา
แล้วค้นสัจจะของ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมที่จะค้นหาสัจจะในธรรมะได้

บริจาค


ทำบุญสังฆทานเป็นจาคะ จาคะเป็นการบริจาคโภคทรัพย์ภายนอก
การสวดมนต์เป็นการภาวนา การภาวนาเป็นการบริจาคภายใน
เพราะฉะนั้น ถ้านับในด้านทิพย์อำนาจ
การบริจาคภายในย่อมได้กุศล มากว่า การบริจาคภายนอก
นี่คือเรื่องของนามธรรม ทำด้วยใจสงบ
เราจะทำบุญก็ดี เราจะทำอะไรก็ดี จงทำด้วยความสงบ
อย่าทำด้วยอารมณ์แห่งความร้อน เพราะการทำด้วยอารมณ์ร้อนนั้น มันจะพาเราไปสู่หายนะ
เมื่อเกิดอารมณ์ร้อน เราจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จงอย่าทำ
นั่งให้จิตใจมันสบายเสียก่อน เมื่อจิตใจสบายแล้ว ปัญญาก็เกิด
เมื่อเกิดปัญญาแล้ว จะทำสิ่งใดก็เป็นไปโดยความสะดวก มีสติพร้อม
จะทำสิ่งใดก็ตาม เราต้องมีสติพร้อม
คือ อย่าให้มีโทสะ อย่าให้อารมณ์เข้ามาควบคุมสติ
อย่าให้เรื่องส่วนตัวและขาดเหตุผล มาอยู่เหนือความจริง


เตือนมนุษย์


มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่งานส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีง านทำในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่ทรัพย์ส่วนตัว มนุษย์ผู้นั้น จะไม่มีทรัพย์ครองในไม่ช้า
มนุษย์ผู้ใด เห็นแก่นอนมาก มนุษย์ผู้นั้น จะไม่ได้นอนในไม่ช้า

พิจารณาตัวเอง


คืนหนึ่งก็ดี วันหนึ่งก็ดี ควรให้มีเวลาว่างสัก 5 นาที หรือ 10 นาที ไม่ติดต่อกับใคร
ให้นั่งเฉยๆ คิดถึงเหตุการณ์ที่เราทำไปแต่ละวันๆ ว่า ที่เราทำไปนั้นเป็นอย่างไร
คือให้ปลีกตัวมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง คิดเอาแต่เรื่องของตัว อย่าไปคิดเรื่องของคนอื่น
เพราะมนุษย์เราส่วนมากทุกวันนี้ มักเอาแต่เรื่องของคนอื่นมาคิด ไม่ค่อยคิดเรื่องของตัวเอง

คัดลอกจากหนังสือ เรียนธรรมะบูชาพระสุปฏิปันโน เล่มของหลวงปู่ทวด


ขอให้ทุกท่านเจริญในธรรม

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

พร 4 ข้อของท่าน ว.วชิรเมธี

พร 4 ข้อของท่าน ว.วชิรเมธี


1.อย่าเป็นนักจับผิด

คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง

" กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก "

คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส " จิตประภัสสร " ฉะนั้น จงมองคน มองโลกในแง่ดี

" แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข "


2.อย่ามัวแต่คิดริษยา

" แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน "

คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า " เจ้ากรรมนายเวร " ถ้าเขาสุข เราจะทุกข์ ฉะนั้น เราต้อง ถอดถอน

ความริษยาออกจากใจเรา เพราะไฟริษยา เป็น " ไฟสุมขอน " ( ไฟเย็น) เราริษยา 1 คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน

เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี

" แผ่เมตตา " หรือ ซื้อโคมมา แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา แล้วปล่อยให้ลอยไป


3.อย่าเสียเวลากับความหลัง

90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ " ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น "

มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย

ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ " อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีต มากรีดปัจจุบัน "

" อยู่กับปัจจุบันให้เป็น " ให้กายอยู่กับจิต จิตอยู่กับกาย คือมี " สติ " กำกับตลอดเวลา


4.อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ

" ตัณหา " ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่ เกินพอดี เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วย น้ำ ไฟไม่เคยอิ่มด้วย เชื้อ

ธรรมชาติของตัณหา คือ " ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม "

ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม เช่น คุณค่า

ที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลา ไม่ใช่มีไว้ ใส่เพื่อความโก้หรู

คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เสริมมาไม่ใช่ คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์

เราต้องถามตัวเองว่า " เกิดมาทำไม " " คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน" ตามหา " แก่น " ของชีวิตให้เจอ คำว่า "พอดี" คือถ้า "พอ" แล้วจะ"ดี" รู้จัก "พอ" จะมีชีวิตอย่างมีความสุข


ท่านที่ได้รับโปรดส่งต่อไปให้แก่คนที่ท่านรักแลปรารถนาดี เป็นบุญเป็นกุศลยิ่งนัก

สัพพะทานัง ธัมมะธานัง ชินาติ

' การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง '

จงดลบันดาลให้ท่านและครอบครัว จงประสพแต่ความสุข ความเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ

และปฏิภาณธนสารสมบัติทุกประการ

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553

นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๐๘๕

นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ ๐๘๕ พฤหัสบดีที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓



จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๘๕

ตอนอยู่ประถมปลาย

ผมเจอประสบการณ์หนึ่งที่จำชัดมาจนถึงวันนี้

คือมีกิจกรรมเต้นประกอบจังหวะระหว่างนักเรียนหลายชั้น

ใช้นักเรียนทั้งหมดจำนวนเกือบร้อยจับคู่กัน

มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งซึ่งผมรู้สึกไม่ถูกชะตาอย่างแรง

และเพิ่งจะมีปากมีเสียงกันประสาเด็ก

ได้เข้ามาร่วมขบวนด้วย

ก่อนถึงเวลาจับคู่

ผมคิดในใจว่าถ้าโดนแจ็คพอตกับคนนี้

ผมยอมตายดีกว่า

มันเป็นความรังเกียจเดียดฉันท์ออกมาจากก้นบึ้ง

หน้าไม่อยากมอง เสียงไม่อยากฟัง

เรียกว่าแค่ต้องเห็นหน้าตอนคัดเลือก

ก็อยากถอนตัวจากกิจกรรมนั้นแล้วด้วยซ้ำ

พอได้เวลาจับคู่ ครูให้นักเรียนกระจายเป็นหน้ากระดาน

แบ่งเป็นสองข้าง ข้างละประมาณ ๓๐-๔๐ คน

ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อครับ

เพื่อนนักเรียนร่วมร้อย ตัวแทนจากไม่รู้กี่ชั้น

ผมดันโดนจัดให้มายืนตรงข้ามกับคู่กรณีพอดิบพอดี!

มันทำให้ผมตกตะลึงอึ้งงงที่สุดในชีวิต

ไม่อยากเชื่อสายตา ไม่อยากเชื่อแก้วหู

คล้ายกับคุณพูดเล่นๆว่าเดี๋ยวหลับหูหลับตาปาลูกดอก

อาจเข้าเป้ากลางขึ้นมาก็ได้

แล้วพอปาส่งเดชไปก็ดันปักเด่ที่กลางเป้าเข้าให้จริงๆ!

ชั่วขณะของประสบการณ์กระทบตัวจังๆนั้น

ผมรู้สึกได้ในจากสัมผัสลึกๆว่านั่นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

มันมีกระแสดึงดูดอันดำมืดบางอย่างเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

และดูเหมือนผมจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

เพียงแต่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก

ว่าไปมีส่วนสร้างความซวยให้ตัวเองได้อย่างไร

อีกหลายปีต่อมา

เมื่อสนใจศึกษาสิ่งที่เกินขอบเขตของรูปธรรม

ผมก็ได้คำตอบว่าประสบการณ์อึ้งกิมกี่ครั้งนั้น

ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไรเลย

พลังความเกลียดที่รุนแรง ก่อให้เกิดอำนาจดึงดูด

อันมาจากกระแสจิตที่เข้มข้น

แบบเดียวกับหลุมดำที่ดึงดูดสิ่งดำมืดเข้าหาตัว

เมื่อจงเกลียดจงชังใครหรือสิ่งใดอย่างเหนียวแน่นแล้ว

ตอกย้ำพร่ำคิดไม่เลิกแล้ว

ก็กลายเป็นมโนกรรมที่ทำเป็นอาจิณ

เอาแต่ตรึกนึกถึงเขาในทางไม่ดี

ส่งผลให้จิตผูกติด ยึดมั่นกับคนนั้นหรือสิ่งนั้นไม่ปล่อย

แม้ความรู้สึกจะอยากผละออก อยากหนีหาย

แต่อาการทางใจกลับดึงดูด เกาะเกี่ยว และติดมั่น

ยากจะถ่ายถอน

ยิ่งโตขึ้นเห็นปรากฏการณ์ทางจิตในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ผมก็ยิ่งเข้าใจเรื่องทำนองนี้แจ่มกระจ่าง ขอยกตัวอย่าง

บางคนเป็นศัตรูคู่แค้นกับบางศาสนามาแต่ปางไหนไม่ทราบ

วันๆจ้องหาเรื่องเขา ไปดูถูกด้วยอาการยกตนข่มท่าน

หรือด้วยเจตนาย่ำยีจิตใจให้เจ็บช้ำ

หาว่าใครต่อใครปัญญาอ่อน หลอกง่าย

เชื่อเข้าไปได้อย่างไร

แล้วก็มีอัตตามานะว่าข้าเป็นพุทธ ข้าฉลาดกว่า

เกิดมาจึงมีปัญญาติดตัว ไม่ต้องกลัวใครต้มตุ๋นอย่างแก

นานเดือนนานปีเข้า

เมื่อถึงเวลาชะตาสั่งให้เป็นทุกข์

ก็ทุกข์เท่าที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะทุกข์ได้

และอันเนื่องจากเป็นพุทธในแบบที่ไม่ได้ฝึกจิตอย่างพุทธ

เกิดปัญหาทางใจขึ้นมาเลยเคว้งคว้างเหมือนเด็กใกล้จมน้ำ

ที่เคยเก่งกล้าสามารถหัวเราะเยาะคนอื่นได้ทั่วแผ่นดิน

ก็กลายเป็นร้องไห้ขอความสงสารเขาได้ทั้งโลก

แรงต้านพลิกขั้วกลับเป็นแรงดึงดูดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

เมื่ออยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด

ก็นึกถึงหลักที่พึ่งซึ่งตนเคยปรามาสไว้แรงที่สุด

แล้วก็รู้สึกอบอุ่นอย่างที่สุดด้วยเมื่อเปิดใจรับ

พอพลิกจากความเชื่อในศาสนาของเหตุผล

ไปสู่ความเชื่อในศาสนาแห่งศรัทธาเรียบร้อย

ก็ได้เวลาเจอวิบากจากกรรมที่ทำไว้หนักแน่นในชาติปัจจุบัน

ต้องถูกกระทบกระเทียบ ถูกด่าว่าต่างๆนานาสารพัด

โดนแบบเดียวกับที่เคยทำคนอื่นไว้นั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเป้าใหญ่ที่ตีมัน

เนื่องจากรู้ๆกันในหมู่เพื่อนเก่าเพื่อนแก่ว่า

เคยตราหน้าคนอื่นไว้หนักหนาขนาดไหน

นั่นเป็นเรื่องที่ผมเห็นตัวอย่างมาจริงๆ

ยังมีกรณีตัวอย่างอื่นที่ใกล้ตัวกว่านั้น

คนเราพอทะนงในความเป็นฝ่ายถูก

หรือความเป็นผู้อยู่ในศีลในธรรม

ก็มักเผลอรู้สึกว่าคนรอบข้างต้อยต่ำ

บางคนรู้สึกอย่างนี้เพราะจิตสูงจริง

สว่างขาวออกมาจากข้างในจริงๆ

เลยสัมผัสเป็นเปรียบเทียบได้ว่า

คนรอบตัวส่วนใหญ่มอมแมมกว่า

ทำนองเดียวกับคนใส่เสื้อผ้าที่ซักสะอาดหอมรื่น

เดินไปไหนมาไหนท่ามกลางคนใส่เสื้อคลุกฝุ่นเหม็นเขียว

ย่อมอดชักสีหน้าเบ้ปากด้วยความรู้สึกเป็นคนละชั้นไม่ได้

แต่บางคนแค่รู้สึกเพียงเพราะเชื่อมั่นว่าตนดีเสมอ

เป็นฝ่ายถูกเสมอ เหนือกว่าคนอื่นเสมอ

เรียกว่ายังไม่ทันมีภูมิคุ้มกันความชั่วร้าย

ก็ชะล่าใจ และเห็นตนเองเหมาะจะเป็นผู้พิพากษา

ด่าว่าคนอื่นได้โดยไม่ปรานีปราศรัย

โดยเฉพาะนินทาลับหลัง

หรือบางทีก็ด่ากระทบกันต่อหน้าต่อตา

ขอให้สังเกตดีๆ ตอนคุณด่าใครเอามัน

แม้มีทั้งความสนุกปากและความโล่งอกที่ได้ปลดปล่อย

จิตของคุณเหมือนประกาศศักดาไปแล้วว่า

ฉันเหนือกว่า ฉันดีกว่า ฉันไม่เป็นอย่างนั้น

ความผิดทำนองเดียวกันที่ตนมี

บัดนี้ได้ถูกฝาก หรือถูกยัดเยียดให้คนอื่นไปหมดแล้ว

แต่หลังจากสนุกปากและโล่งอก

คุณอาจเกิดความอึดอัดแปลกๆ

นั่นเพราะยิ่งด่าคนอื่นไว้แรงเท่าไร

ยิ่งเท่ากับเป็นแรงกดดันว่าเราจะเป็นอย่างเขาไม่ได้

เป็นต้นว่า เห็นเพื่อนพลาดพลั้ง ไปหลงรักคนมีเจ้าของ

แทนที่จะเห็นอกเห็นใจและค่อยๆปลอบให้เห็นโทษ

กลับด่ายับ สวดแหลกลาญ พ่นโขมงโฉงเฉง

ตัดสินง่ายๆว่าเขาเลว เขาโฉด เขาใฝ่ต่ำ

ฉันไม่เห็นจะเป็นอย่างแก ฉันไม่มีทางเลวแบบแกเป็นอันขาด

คำด่าเหล่านั้นย่อมย้อนกลับมาเป็นมีดจ่อค้ำคอ

เมื่อไรพลาดสะดุดล้มเข้าบ้าง

มันจะเชือดคอหอยคุณทันที!

ใจเดิมอยู่เฉยๆเป็นอิสระของมัน

แต่เมื่อใส่ใจให้ยึดกับอะไร ใจก็ผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น

แล้วค่อยๆเหนี่ยวนำสิ่งนั้นมาเข้าตัวทีละน้อย

หรือไม่ก็กระชากพรวดเดียวมากอดเต็มอ้อมเลยทีเดียว

ด่าเขาเบาก็โดนลองเบาๆ พอต้านไหว

ด่าเขาแรงก็โดนลองแรงๆ ยากจะต้านสำเร็จ

สังคมอินเตอร์เน็ตปัจจุบันทำให้บางคนเปรยเลยทีเดียวว่า

กำลังเครียดๆ ขอมาร่วมแจมกับคอเดียวกัน

รุมด่าหมอนี่ให้เบาตัวสบายใจหน่อยเถอะ

อย่าท้าทายความชั่ว แต่ขณะเดียวกันก็อย่าทะนงในความดี

อย่าประกาศว่าฉันดีแน่แล้ว ไม่ไปเป็นพวกนั้นอย่างเด็ดขาด

การรุมด่าคนอื่นคือการร่วมกันสร้างแรงกดดันให้ตนเอง

ค่อยๆบีบให้ตัวเองไหลลงไปสู่ความเป็นเช่นนั้นโดยไม่ทันรู้สึก

ส่วนการช่วยกันปลอบประโลมหรือชี้ทางสว่างให้คนล้ม

คือการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ตนพลาด

หรือเมื่อพลาดแล้วก็มีแรงหยัดลุกขึ้นยืนใหม่ได้ไม่ยากครับ

ดังตฤณ

มกราคม ๕๓

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คุยเรื่อง...ฌาน

             ถาม... การทำสมาธิจะทราบได้อย่างไรว่าเราได้ฌาน และมีอะไรเป็นเครื่องวัด?

             หลวงพ่อ... ฝึกสมาธิเหมือนการกีฬา ถ้าตัวเองเก่งก็จะรู้ว่าเอง ถ้าตนเองชำนาญก็จะรู้
                   เหมือนกับการว่ายน้ำ ถ้าโดดลงไป... ตู้ม      มันจม...เราก็รู้ว่าเราว่านไม่เป็น 
                   ถ้าเราโดดไป... ตู้ม เราว่ายได้ เราก็รู้ว่าเราว่ายเป็น   เหมือนเราทานข้าวนี่
                   เรากินเข้าไปแล้ว  เราจะรู้ว่ามันเป็นยังไง เปรี้ยว , หวาน , มัน , เค็ม  ยังไม่อิ่มเราก็รู้ 
                   อิ่มแล้วเราก็รู้  สมาธิมันก็รูตัวเองอย่างนั้น  ฉะนั้นคนทำจึงจะรู้ เข้าใจไหม?  พอเข้าใจนะ
                   ก็ต้องทำ ทำแล้วจะรู้

                                   เรื่องฌานเรื่องฌาน...  ไม่ต้องให้ใครบอกว่า "คุณถึงฌานขั้นนั้น..."
                   ถ้าเราทำสมาธิแล้วยังต้องคอยให้คนอื่นมาบอกแสดงว่าสมาธิเราไม่เกิดปัญญา
                   แสดงว่าหลงทาง  คนที่ถามก็หลงทาง  คนที่บอกก็หลงทาง  สมาธิมันก็ต้องเป็นปัจจัตตัง
                   ตัวเองต้องรู้  เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า  สมาธิทำให้เกิดปัญญา
                    ถ้าไม่เกิดปัญญาก็ไม่ใช่สมาธิ

               ถาม... ที่ว่ามีการสอบอารมณ์นี่ล่ะครับ  จำเป็นแค่ไหน?

               หลวงพ่อ... ก็จำเป็นบ้าง  ถ้าเกิดลูกศิษย์หลงทางไปด้วย  สอบอไรก็หลงทาง  แต่ถ้า
                     อาจารย์หลงทางซะเอง ลูกศิษย์ก็หลงทางไปด้วย  สอบอะไรก็หลง  พากันหลงเลย

                                   ใครที่บอกว่า "คุณนี้ได้โสดาบันนะ ได้สกินทาคาฯ นะ"  นั้นหลงเลย

                ถาม... ถ้าระดับพระอริยเจ้านี่ ไต้องมาบอกกันว่า"คุณได้"

                หลวงพ่อ... เขาทำงาน  เขาก็รู้ว่าเขาได้เงินเดือนเท่าไร  ไม่ต้องไปบอกเขาหรอก
                        เจ้านายให้มาแล้วเขาก็รู้เลยว่าเขามีเงินเดือนเท่าไร  เขารู้ใช้ไหม?  แล้วเงินใน
                        กระเป๋าเขามีอยู่เท่าไรเขาก็ต้องรู้  คนตาบอดยังรู้เลย

วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

The Seven Practices For a Healthy Mind




ได้ยินชื่อหลวงพ่อครั้งแรกจากการพูดคุยกับกับเพื่อนระหว่างที่อยู่ในประเทศจีน
วันเดียวกับที่พูดคุยกันนั้นเอง  เพื่อนรักกำลังสนทนาธรรมกับหลวงพ่ออยู่ที่
วัดสุนันทวนาราม  จังหวัดกาญจนบุรี

และอีกอาทิตย์ถัดมา  กลับมาถึงเมืองไทยก็ได้รับหนังสือของหลวงพ่อ
จากเพื่อนรักที่นำมาฝากหลายเล่มเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด   เป็นหนังสือชุดแรก
ของหลวงพ่อที่ได้อ่าน  แนวการสอนของหลวงพ่อน่าสนใจมาก 
และมีประโยชน์ในเวลาต่อมาอย่างมาก   หลังจากนั้นก็ยังคงได้รับหนังสือ
ของหลวงพ่อจากเพื่อนคนอื่นๆ ที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัดอีกหลายเล่ม  ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี่

Foreword

Happiness seems to be the most  important issue of life, because everyone seeks
happiness and wants to avoid suffering. Our family, parents, relatives and friends
want us to be happy. Humanists and social workers, too, are predisposed to 
wishing everyone happiness.
     However, the problem is that we almost never find true happiness, because we
seek happiness from material possessions, status and praise. Being materialistic,
we enjoy these worldly things and are unaware of the intermal happiness derived
from a well-trained mind, which is peaceful and brings real happiness .
    It is natural that we pay most attention to our boby, feeding it with fine foods,
setting aside time to exercise, cleaning and adorning ourselves with beautiful
clothes. But we overlook  or give least priority to our mind. We forget that the
mind is the chief. With right mindfulness, right thinking and right actions, any
human being is able to attain peaceful happiness.
     The corn purpose of this book is to establish right values so that the reader
turns more attention towards 'looking' at onr,s own mind. The practices presented
in this book can and should be practised by all. A well-trained mind, oen that is
strong, stable, patient and kind, will bring us true happiness and radiate benefit to
all society.













I am very happy to write this 'you too'

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คุยเรื่อง....สัตร์เลี้ยงมีบุญ

     ถาม... เห็นสัตว์เลี้ยง เป็นหมาหรือเป็นแมวก็แล้วแต่ เกิดมาป็นสัตว์เลี้ยง แล้วเจ้าของเลี้ยงดูอย่างดี
แสดงว่าสัตว์ตัวนั้นมีบุญกว่าคนใช่ไหมครับ?

     หลวงพ่อ... สัตว์มันก็มีบุณแบบสัตว์นะ จะมีบุญมากกว่าคนไม่ได้หรอก มนุษย์นี่... แม้แต่ขอทานก็ยังมีบุญมากกว่าสุนัขที่เขาเลี้ยงอยู่ในกรงทองเศรษฐี ถึงแม้เขาเลี้ยงให้กินดี แต่สู้มนุษย์ขอทานไม่ได้        สู้มนุษย์ที่พิกลพิกาลไม่ได้  มนุษย์นี้ยังมีโอกาสใช้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือใช้ความดีของตัวเองนี้ สร้างอารมณ์ให้เป็นมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติได้

             สุนัขมันไม่รู้อะไร แค่กินแค่นอนอย่างเดียว ไม่รูศาสนา ไม่รู้ธัมมะธัมโม ไม่รู้จะไปสั่งสอนให้คนได้ดีอะไร สุนัขมันดีได้เพียงส่วนหนึ่ง จะไปเปรียบเทียบกันไม่ได้

       ถาม... เป็นสัตว์เลี้ยงของเศรษฐีก็แค่มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่เป็ฯคนยังสามรถพัฒนาให้สูงขึ้นได้

       หลวงพ่อ... มนุษย์นี้ประเสริฐที่สุด เปรียบเทียบไม่ได้ คนบางคนอาจจะคับแค้นใจแล้วคิดว่า

                    "เป็นหมาดีกว่า...ไม่ต้องทำมาหากิน"
                  แต่ถ้าหมามันพูดได้       มันก็คงจะพูดว่า
            "กูขอเป็นขอทานดีกว่า...ยังไงจะกินอะไรก็กินได้ วันๆ เขาก็ขัง ให้กินอย่างเดียวนี่ ไปไหนไม่ได้"

หลวงพ่อสนอง



คุณดำ  แมวที่บ้านค่ะ  ถ้ามันได้เกิดใหม่ก็อยากให้ได้เกิดเป็นคน




วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประวัติ-หลวงพ่อมิตชูโอะ คเวสโก (Mitsuo Gavesako)



พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก (Mitsuo Gavesako) พระอาจารย์มิตซูโอะ มีนามเดิมว่า มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ จังหวัดอีวาเต้ประเทศญี่ปุ่น จบการศึกษาระดับไฮสคูล (ปวช.) สาขาเคมี เมื่อสำเร็จการศึกษา ท่านทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว จึงออกเดินทางสัญจรรอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔


ประวัติและปฏิปทา

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก  (Mitsuo Gavesako)
วัดป่าสุนันทวนาราม
ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

อัตโนประวัติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า เจ้าประคุณพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) อดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ท่านคือเอกอุพระกรรมฐานสายมหานิกาย ที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในหลายประเทศ ทั้งยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันหลวงพ่อชามีทายาทธรรมถึง ๑๑๗ สาขาเป็นสักขีพยาน

จำเพาะวัดสาขาลำดับที่ ๑๑๗ เพชรแท้แดนปลาดิบ “พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก” เจ้าอาวาสวัดป่าสุนันทวนาราม บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ยังทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมเป็นกิจวัตร ศิษย์ท่านไซร้มีทั้งคนไทยและคนต่างแดน

พระอาจารย์มิตซูโอะ มีนามเดิมว่า มิตซูโอะ ชิบาฮาชิ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ตรงกับวันจันทร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ ณ จังหวัดอีวาเต้ ประเทศญี่ปุ่น จบการศึกษาระดับไฮสคูล (ปวช.) สาขาเคมี เมื่อสำเร็จการศึกษา ท่านทำงานเก็บเงินได้จำนวนหนึ่งแล้ว จึงออกเดินทางสัญจรรอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยได้ท่องเที่ยวเพื่อศึกษาชีวิต สังคม ประเพณี และวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ในตะวันออกกลาง อาทิเช่น ประเทศอินเดีย, เนปาล, อิหร่าน และในยุโรป เป็นเวลา ๒ ปีเศษ แล้วเปลี่ยนความตั้งใจที่จะไปแอฟริกา วกกลับสู่อินเดีย

พ.ศ. ๒๕๑๗ เมื่อเดินทางถึงพุทธคยา ประเทศอินเดีย ท่านจ้องมองเห็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ ก็ระลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ และประจักษ์ขึ้นมาในใจว่า “นี่คือสิ่งที่แสวงหา สัจจะความจริงอยู่ภายในกายกับใจของเรานี้เอง ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ใจ ทุกคนทุกชีวิตสามารถพ้นทุกข์ได้” ท่านจึงหยุดการแสวงหาจากภายนอก เข้าสู่การแสวงหาภายใน

จากนั้นท่านก็ได้ไปฝึกโยคะอยู่ที่สำนักโยคีแห่งหนึ่งในประเทศอินเดียนั่นเอง และก็เริ่มมีประสบการณ์โยคะบ้าง ท่านเกิดความพอใจ คิดว่าจะเป็นโยคีอยู่ที่อินเดียตลอดชีวิต แต่บังเอิญวีซ่าหมด มีคนแนะนำให้เดินทางมาประเทศไทย ต่อมาก็มีผู้แนะนำท่านให้ไปกราบหลวงพ่อชา สุภัทโท ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านก็ได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อตั้งแต่บัดนั้น

การบรรพชาและอุปสมบท

ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ขณะอายุ ๒๓ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ต่อมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้ ๓ เดือนก็พยายามแสวงหาสถานที่ปฏิบัติธรรม ทีแรกเพื่อนก็พาไปดูวัดที่ภาคใต้ ๓-๔ วัด เป็นวัดที่มีชาวต่างชาติไปปฏิบัติกัน แต่ท่านดูแล้วก็ยังไม่รู้สึกตกลงใจ หลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้ไปจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปหาหลวงพ่อชา ตอนนั้นก็มีพระชาวอินเดียที่พูดภาษาไทยได้พาไป นั่งรถทัวร์จากกกรุงเทพมหานครไปถึงจังหวัดอุบลราชธานี แล้วท่านก็ยืนงงๆ อยู่ว่าจะไปวัดหนองป่าพงได้อย่างไร

ณ วัดหนองป่าพง ท่านได้พบกับพระฝรั่งชื่อเขมธัมโม ซึ่งก็เข้ามาช่วยแนะนำ เมื่อฉันจังหันเสร็จแล้วท่านสุเมโธและพระฝรั่งอีก ๔-๕ รูป ก็พาไปหาหลวงพ่อชาที่กุฏิ เมื่อบอกความประสงค์ที่จะมาขอปฏิบัติที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชาซักถามว่ามาจากไหน มายังไง แล้วก็ถามชื่อ พระอาจารย์มิตซูโอะ ตอบว่า ชื่อ “ชิบาฮาชิ” (ชื่อมิตซูโอะ แต่ธรรมเนียมญี่ปุ่นจะใช้นามสกุลเป็นชื่อแนะนำตัวเอง) หลวงพ่อชาท่านก็จำเทียบเคียงเป็นภาษาไทยว่า สี่บาทห้าสิบ นับจากวันนั้นหลวงพ่อชาก็เรียกพระอาจารย์มิตซูโอะสั้นๆ ว่า “สี่บาทห้า” มาตลอด

“คำสอนข้อแรกที่หลวงพ่อชาสอน คือ เราต้องอดทน”

ครั้นเมื่อได้พบกับหลวงพ่อชาแล้ว รู้สึกซาบซึ้งในหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๘ ขณะอายุได้ ๒๔ ปี โดยมีพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวิฑูรย์ จิตตสัลโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ถือว่าเป็นพระภิกษุรุ่นแรกที่หลวงพ่อชาอุปสมบทให้ จึงเรียกว่าเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา

ลำดับการจำพรรษา

จากนั้นได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อชาตลอดระยะเวลา ๕ ปี แต่ในช่วงเข้าพรรษา ได้จำพรรษาอยู่ตามวัดสาขาของหลวงพ่อชา ภายในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้คือ

พรรษาที่ ๑ ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ
พรรษาที่ ๒ ได้จำพรรษาที่วัดป่านานาชาติ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ โดยมีพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือพระราชสุเมธาจารย์) เป็นหัวหน้าคณะ
พรรษาที่ ๓ ได้จำพรรษาที่วัดป่าสุภัทราวาส (วัดป่าสุภัทราราม บ้านคำชะอี ต.คำชะอี อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร)
พรรษาที่ ๔ ได้จำพรรษาที่วัดถ้ำแสงเพชร (วัดศาลาพันห้อง) ต.หนองมะแซว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ
พรรษาที่ ๕ ได้จำพรรษาที่วัดก่อนอก ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ
พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔ เข้าห้องกรรมฐานเก็บอารมณ์ที่วัดสังฆทาน (หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ) ต.บางไผ่ อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นเวลา ๒ ปี

พ.ศ. ๒๕๒๕ ธุดงค์และปฏิบัติธรรมที่ประเทศอินเดีย
พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๒๘ ปฏิบัติธรรมที่วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ พร้อมทั้งอุปัฏฐากรับใช้หลวงพ่อชาขณะท่านอาพาธ ร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชา เป็นเวลา ๓ ปี
พ.ศ. ๒๕๒๙ เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบ ๑๔ ปี หลังจากมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔

สัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา

ท่านเป็นสัทธิวิหาริกรุ่นแรกของหลวงพ่อชา ได้จำพรรษาที่วัดหนองป่าพง และได้อุปัฏฐากดูแลหลวงพ่ออย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานด้วยความเคารพบูชาอย่างสูง รวมทั้ง ท่านอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ ซึ่งมีพระอาจารย์สุเมโธ (ปัจจุบันคือพระราชสุเมธาจารย์ หรือเจ้าคุณโรเบิร์ต เจ้าอาวาสวัดอมราวดี เมืองฮาร์ดฟอร์ด ประเทศอังกฤษ) เป็นหัวหน้าคณะ

ตลอดระยะเวลาที่ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่ในประเทศไทยนั้น ท่านบำเพ็ญเพียรมาหลายรูปแบบ และธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร ในประเทศไทยท่านได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการธุดงค์เพื่อหาความสงบวิเวกไปตามภาคต่างๆ ท่านได้รู้จักและเห็นความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วทุกภาค ทั้งรู้สึกสำนึกในความศรัทธา ความเสียสละ และความเคารพของคนไทยที่มีต่อพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีส่วนทำให้ท่านยิ่งเร่งทำความเพียรมากขึ้น

การที่พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้มาประเทศไทย และได้บวชเป็นศิษย์ต่างชาติท่านหนึ่งของหลวงพ่อพระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) นั้น เป็นเรื่องที่ “เป็นไปเอง” ตั้งแต่เด็กๆ ท่านคิดเสมอว่า

“อะไรคือชีวิตที่น่าพอใจ...ชีวิตน่าจะมีอะไรที่มีคุณค่ามากกว่านี้...”

การเดินธุดงค์ในประเทศญี่ปุ่น

ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พระอาจารย์มิตซูโอะ พร้อมลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่งชื่อ พระญาณรโต ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะ ถึง PEACE MEMORIAL PARK เมืองฮิโรชิมา การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด ๗๒ วัน เป็นการเดินทางด้วยเท้ากว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร

ตลอดทางได้โปรดศรัทธาญาติโยมทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นไปด้วย โทรทัศน์ของญี่ปุ่นติดตามถ่ายภาพทำสารคดีออกอากาศ เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้อย่างดี รวมการเดินทั้งหมดประมาณ ๒ ล้าน ๒ แสนก้าว หลังจากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษา ณ วัด SHINAGAWA-JI ในกรุงโตเกียว

การเดินธุดงค์ครั้งนี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ และพระญาณรโต ตั้งใจเดินเพื่อเป็นการระลึกถึงสันติภาพของโลก และตลอดการเดินธุดงค์นั้นท่านยังคงเคร่งครัดต่อพระวินัยโดยไม่มีการยืดหยุ่น คือการไม่ถือเงิน และการฉันมื้อเดียวด้วยการอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตหรืออาหารที่มีผู้จัดถวาย นอกจากนั้นพระภิกษุทั้ง ๒ รูป ยังได้สมาทานการเดินธุดงค์โดยไม่มีการนั่งรถ นับตั้งแต่สนามบินนาริตะจนถึงเมืองฮิโรชิมา

ดังนั้นระหว่างการเดินทาง ท่านได้ประสบและพบเห็นกับสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ท่านหวนระลึกได้ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลกได้ ก็ต่อเมื่อชาวโลกทั้งหลายละความเห็นแก่ตัว โดยการให้ทาน ๑๐ ประการ เป็นทานจักร แล้วสังคมของเรา โลกของเราก็จะมีแต่ความสงบ ความร่มเย็น โดยไม่ต้องสงสัย

ในประเทศญี่ปุ่น เด็กๆ และเยาวชนได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และด้วยความปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยมีโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่นบ้าง พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงได้ปรารภปัญหาดังกล่าวรวมทั้งความประสงค์ในการสงเคราะห์เด็กๆ ของไทยแก่ญาติโยมชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็ยินดีสนับสนุนในการจัดหาทุนเพื่อโครงการนี้กันอย่างเต็มที่ โดยเริ่มแรกได้ถวายทุนมาเป็นจำนวนเงิน ๑๖๐,๐๐๐ บาท

จัดตั้งมูลนิธิมายา โคตมี

ดังนั้น ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะ เดินทางกลับถึงประเทศไทย ท่านจึงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความดำริของท่านและการสนับสนุนจากสาธุชนชาวญี่ปุ่นให้ศรัทธาญาติโยมชาวไทย อาทิเช่น คุณสิริลักษณ์ รัตนากร, คุณวิชา มหาคุณ, คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และคุณดารณี บุญช่วย ฟัง ท่านทั้ง ๔ เห็นดีและสนับสนุนในกุศลเจตนาของพระอาจารย์ และมีความเห็นว่าน่าจะได้ดำเนินการในรูปของมูลนิธิ

ในที่สุดด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวชและผู้ช่วยคือคุณสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จึงได้เริ่มจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิจนแล้วเสร็จเป็นมูลนิธิมายา โคตมี ในวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยมีคุณมนูญ เตียนโพธิ์ทอง อนุเคราะห์สถานที่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ

ชื่อของมูลนิธิ “มายา โคตมี” นั้น มาจากพระนามของพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา และพระนางปชาบดีโคตมี พระน้านาง ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระมารดาทั้ง ๒ พระองค์ ที่ได้ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะจนเติบใหญ่ กระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและคุณประโยชน์อันหาค่ามิได้แก่ชาวโลก ตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธินั้น เนื่องจากมูลนิธิมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาและจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนในชนบท พระอาจารย์มิตซูโอะจึงเห็นควรที่จะอัญเชิญพระรูปของพระพุทธองค์ปางประสูติประทับยืนบนดอกบัว เบื้องหน้าของวงล้อแห่งทานจักร ๑๐ ประการ อันเป็นหัวใจของมูลนิธิ เป็นสัญญลักษณ์ของมูลนิธิ โดยล้อมรอบด้วยวงกลม ๒ ชั้น ซึ่งภายในวงกลมด้านบนมีชื่อภาษาไทยว่า “มูลนิธิมายา โคตมี” ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “MAYA GOTAMI FOUNDATION”

ทั้งนี้ เพื่อให้ตราสัญญลักษณ์เป็นนิมิตหมายว่า การที่เราทั้งหลายร่วมมือร่วมใจกันหมุนทานจักร ๑๐ ประการนี้ จะยังผลให้เด็กและเยาวชนในอุปการะของมูลนิธิฯ เติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้มีความรู้ ความเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทงดงาม มีจิตใจที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ฉะนั้น

ปัจจุบันที่ทำการมูลนิธิมายา โคตมี
ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๓๗๘ อาคารสงเคราะห์ สาย ๒๐ ก. แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๒๐
 โทรศัพท์ ๐๒-๖๗๖-๓๔๕๓, ๐๒-๖๗๖-๔๓๒๓
โทรสาร ๐๒-๒๘๖-๘๖๙๐
 E-mail address : mayakotami@hotmail.com, mayagotami@gmail.com


สร้างวัดป่าสุนันทวนาราม

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ นางสุนันท์ บุษสาย คหบดีชาวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่และครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากภายในจังหวัดกาญจนบุรี มีความศรัทธาในปฏิปทาและข้อวัตรอันเคร่งครัดของพระธุดงค์สายวัดป่า (สายหลวงพ่อชา สุภัทโท) ผู้ซึ่งเดินธุดงค์รอนแรมอยู่ในป่าเขาบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี

จึงได้ถวายที่ดินประมาณ ๕๐๐ ไร่ ซึ่งหมดสภาพป่า และทำไร่อ้อยมาประมาณ ๒๐ ปี ณ บริเวณบ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อจัดตั้งวัด ทั้งนี้ เพื่อพระสงฆ์จะได้มีเสนาสนะ และชาวบ้านจะได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์สายวัดป่า อีกทั้ง เมื่อมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าไปพำนักจำพรรษาอยู่ จะสามารถยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ในบริเวณดังกล่าวได้อีกด้วย

พระอาจารย์มิตซูโอะ ผู้ได้บวชบำเพ็ญเพียรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และทุรกันดาร และเป็นผู้ซึ่งอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งสำนักสงฆ์ ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “วัดป่าสุนันทวนาราม” ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ด้วยเจตนารมณ์ในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในละแวกนั้นและละแวกใกล้เคียง ตลอดจนเพื่อให้ราษฎรรู้จักหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดป่าให้เป็นวัดป่าอย่างแท้จริง

ด้วยข้อวัตรอันเคร่งครัดและเรียบง่ายของความเป็นพระป่าของพระอาจารย์มิตซูโอะ ทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

การสถาปนาสำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนารามบนพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสถาบันวัดได้เข้าไปเป็นอุปสรรคต่อการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ ด้วยความเพียรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของคณะผู้บุกเบิกนำโดยพระอาจารย์มิตซูโอะ จึงสามารถพัฒนาพื้นดินซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมด้วยการทำไร่อ้อย จนกระทั่งเป็นพื้นที่ซึ่งเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ มีเสนาสนะอันสมควรแก่สำนักสงฆ์ได้แก่ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงฉัน และที่พักสำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตามสมควร

พ.ศ. ๒๕๔๕ กองทัพบกได้มอบที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งติดต่อกับเขตวัดป่าสุนันทวนารามจำนวน ๑๒ ไร่ ให้ใช้เพื่อสร้างวัดได้ และได้ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธานประกอบพิธีผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิต เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ วัดป่าสุนันทวนารามจึงเป็นวัดสมบูรณ์แต่นั้นมา

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระอาจารย์มิตซูโอะ ได้จัดอบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบ “อานาปานสติ” ที่วัดป่าสุนันทวนาราม เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๙-๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ และได้มีการจัดอบรมเป็นระยะๆ ตั้งแต่นั้นมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

เมื่อวัดป่าสุนันทวนารามจัดตั้งเป็นวัดสมบูรณ์แล้ว ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนาจนเป็นที่ศรัทธาของประชาชน โดยจัดอบรมสมาธิวิปัสสนากรรมฐานแบบ “อานาปานสติ” แก่พุทธศาสนิกชนปีละ ๖ ครั้งๆ ละ ๘-๙ วัน รวมไม่ต่ำกว่า ๓๗ ครั้ง

อีกทั้ง ยังรับเป็นวิทยากรจัดฝึกอบรมตามคำขอของทางราชการ ทั้งตำรวจ ทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครอง คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตลอดจน ศรัทธาญาติโยมและสาธุชนทั่วไป ตามโครงการธรรมศึกษาสัญจรวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน ปีละประมาณ ๕,๐๐๐ คน

ในส่วนของหนังสือธรรมะที่รวบรวมธรรมบรรยายของท่านนั้น มีจำนวนกว่า ๒๕ เล่ม อาทิเช่น หนังสือธรรมไหลไปสู่ธรรม, พลิกนิดเดียว, ทุกข์เพราะคิดผิด, ทุกขเวทนา, ผิดก่อน-ผิดมาก, ผิดก่อน-ผิดมาก, สอนคนขี้บ่น, ปัญหา ๑๐๘ (๑)-(๔), อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑-๓, ชั่วโมงแห่งความคิดดี, เหตุสมควรโกรธ...ไม่มีในโลก, The Seven Practices for a Healthy Mind และสติเป็นธรรมเอก เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเทป-ซีดี-วีซีดี รวบรวมธรรมบรรยายและแนวทางการปฏิบัติธรรม จำนวนมากมายหลายชุด ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ตลอดจน มีการเผยแผ่ธรรมทางอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซต์วัดป่าสุนันทวนาราม http://www.watpahsunan.org/ อีกด้วย

งานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

งานอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นหัวใจสำคัญ นับตั้งแต่เริ่มเข้าไปจัดตั้งวัดป่าสุนันทวนาราม ท่านได้มีบทบาทในการอนุรักษ์ป่าไม้ อาทิ ได้กำหนด “เขตอภัยทาน” ขึ้นภายในพื้นที่วัดและพื้นที่ต่อเนื่อง, เข้าร่วมโครงการของกรมป่าไม้ภายใต้ชื่อ “พระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” ตั้งแต่วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา, ปลูกป่าและรักษาสภาพแวดล้อม พื้นที่กว่า ๕,๖๐๐ ไร่ มีต้นไม้เบญจพรรณ ๑๐๐,๐๐๐ ต้น และอื่นๆ อีกกว่า ๕๐,๐๐๐ ต้น

ด้วยปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติอันงดงามและน่าศรัทธาเลื่อมใสของท่านและคณะสงฆ์ เป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดยั้งการทำลายป่า ส่วนการล่าสัตว์ได้บรรเทาลงอย่างมาก

พ.ศ. ๒๕๔๔ ร่วมมือกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ครบ ๕๐ ปี จำนวนพื้นที่ ๒๐๐ ไร่

พ.ศ. ๒๕๔๕ ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ปลูกป่าจำนวนพื้นที่ ๑๐๐ ไร่ แล้วนำพื้นที่ซึ่งปลูกป่านี้ขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เข้าร่วมในโครงการปลูกป่า ๑ ในจำนวน ๙ ป่า ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา โดยปลูกป่าต้นสาละ (ต้นไม้ในพุทธประวัติ) จำนวนพื้นที่ ๔๐ ไร่

นอกจากเป็นพระนักอนุรักษ์แล้ว พระอาจารย์มิตซูโอะท่านยังให้ความรู้แก่ชาวบ้าน โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในโครงการชุมชนร่วมใจรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพชีวิต รักษาระบบนิเวศ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

งานส่งเสริมการศึกษา

ด้วยเมตตาธรรมและเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของเยาวชน ตลอดจนเพื่อตอบแทนบุญคุณชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดกาญจนบุรี ที่อุปัฏฐาก จึงก่อตั้งมูลนิธิมายา โคตมี ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จัดสรรทุนการศึกษาแก่เยาวชนด้อยโอกาสในชนบท เป็นทุนการศึกษาแบบต่อเนื่องตั้งแต่มัธยมจนจบอุดมศึกษา ซึ่งได้มาจากผู้มีจิตศรัทธาในปฏิปทาของท่านทั้งจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวญี่ปุ่น นับถึงปีพ.ศ. ๒๕๔๖ ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๑๓ ปีแล้ว ได้มอบทุนการศึกษาไปแล้วจำนวน ๓,๓๒๓ ทุน

กิจกรรมที่มูลนิธิมายา โคตมี ให้ความสำคัญ คือการอบรมจริยธรรม ตลอดจนอบรมความรู้เกี่ยวกับปัญหาร้ายแรงของสังคมปัจจุบัน คือปัญหายาเสพติด โรคเอดส์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียนรับทุนของมูลนิธิฯ ทุกปี ปีละประมาณ ๖-๗ วัน ถือเป็นภารกิจสำคัญของผู้รับทุน

อีกทั้งสนับสนุนจักรยานเพื่อเป็นยานพาหนะไปโรงเรียนแก่เยาวชนด้อยโอกาสในท้องถิ่นชนบทที่บ้านพักอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงเรียน ในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดกาญจนบุรี รวม ๑,๕๙๔ คัน ให้เงินสมทบเพื่อผลิตวัตถุดิบ เช่น ทุนในการปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด เพื่อเป็นอาหารกลางวันแก่โรงเรียนในจังหวัดอุบลราชธานี ๔๖ โรงเรียน และจังหวัดกาญจนบุรี ๒ โรงเรียน

ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น จากโรงเรียนสำโรงวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี กับโรงเรียนอิชิโนเอะ และโรงเรียนไทรโยคมณี-กาญจน์วิทยา จ.กาญจนบุรี กับโรงเรียนโอโตเบะ ได้มีการเดินทางแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างอาจารย์และนักเรียนเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ ความรู้จักคุ้นเคย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนของทั้งสองประเทศ

ชาวอุบลราชธานีได้อุปัฏฐากท่านและพระอาจารย์องค์อื่นๆ ด้วยใจศรัทธา ท่านพูดถึงชาวบุ่งหวายและชาวบ้านก่อนอกว่า “เหมือนเป็นพ่อแม่พี่น้องของอาตมา ได้อุปการะเลี้ยงดูอาตมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร” และนี่คือที่มาของมูลนิธิมายา โคตมี ที่ท่านริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อช่วยเหลือให้ทุนการศึกษา และจัดอบรมจริยธรรมให้เยาวชนด้อยโอกาสในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณ ซึ่งการให้ทุนการศึกษาได้ขยายออกไปยังอีกหลายจังหวัดของประเทศไทยในเวลาต่อมา

ผลงานและเกียรติคุณดีเด่น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ถวายโล่เชิดชูเกียรติคุณในฐานะเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดกาญจนบุรี สาขามนุษยศาสตร์ จึงถือได้ว่าท่านเป็นเพชรแท้จากแดนปลาดิบ ศิษย์ธรรมสายหลวงพ่อชา สุภัทโท ผู้อุทิศถวายตนเพื่อพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ที่มา : http://www.phuttha.com/monk